ในฐานะที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ มาเป็นเวลานาน ผมค่อนข้างมีความคุ้นเคยกับกิจกรรมการระดมทุนประจำปีของมูลนิธิสร้างรอยยิ้ม ประเทศไทย เช่นกิจกรรมชกมวยการกุศลไฟท์ไนท์ และงานวิ่งการกุศล Colour Miles for Smiles โดยเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้มีโอกาสไปร่วมออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่กับมูลนิธิฯ ที่ประเทศเนปาล แต่ได้ไปแค่ในช่วงท้ายๆ เท่านั้น จึงยังไม่เคยได้รับประสบการณ์เต็มรูปแบบตั้งแต่ต้นจนจบ จนเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2558 ที่ได้รับโอกาสดีอีกครั้งในการไปร่วมออกหน่วยอีกครั้งที่เขตชายแดนไทย-พม่า ณ อำเภอแม่สอด
จากการได้ร่วมออกหน่วยตั้งแต่ต้นจนจบในครั้งนี้ ผมคิดว่ามีประสบการณ์ที่น่าทึ่งมากๆ อยู่ 2 ประการที่อาสาสมัครของมูลนิธิสร้างรอยยิ้มควรได้รับทราบ และเรียนรู้ คือ 1. การจัดการด้านการเดินทาง และขนส่ง ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญมากในการทำให้การออกหน่วยแพทย์ในแต่ละครั้งประสบความสำเร็จ หลายๆ ครั้งในรอบหนึ่งปีที่มูลนิธิฯ จะต้องเดินทางไปออกหน่วยพร้อมกับอาสาสมัครมากกว่า 100 ราย ร่วมด้วยเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ ตลอดจนอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ ที่จะต้องขนส่งไปยังโรงพยาบาลห่างไกลเหล่านี้ ซึ่งในการออกหน่วยแต่ละครั้ง ต้องใช้ความพยายามที่สูงมาก และขอยกความสำเร็จนี้ให้กับเจ้าหน้าที่ของทางมูลนิธิฯ ที่ทำงานกันเป็นทีมอย่างแน่นแฟ้น รวมทั้งความร่วมมือของทีมแพทย์ และพยาบาลอาสาสมัคร ที่ช่วยให้การออกพื้นที่ในแต่ละครั้งนั้นสำเร็จลุล่วง
ประการที่ 2 หากมีโอกาส อาสาสมัครควรได้ลองติดตามคนไข้สัก 1 คน ตั้งแต่ขั้นตอนแรกในการลงทะเบียนเมื่อวันคัดกรอง ตลอดจนการเตรียมตัวผ่าตัด การเข้ารับการผ่าตัด จนเสร็จเรียบร้อย และออกมาพักที่ห้องพักฟื้น โดยความมหัศจรรย์ของงานที่มูลนิธิฯ ทำจะปรากฎให้เห็นต่อหน้าคุณนี่เอง เด็กน้อย 5 ขวบคนหนึ่งที่เป็นผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่สามารถกลับออกมาวิ่งเล่นได้อีกครั้งภายในหนึ่งหรือสองชั่วโมงหลังจากที่ยาสลบหมดฤทธิ์ วันเวลาแห่งความกังวลที่ยาวนานของผู้ป่วย และผู้ปกครองได้มลายหายไปในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงเปลี่ยนเป็นรอยยิ้มอันสดใสที่จะคงอยู่ตลอดไป
หน้าที่หลักในฐานะอาสาสมัครในครั้งนี้คือการสัมภาษณ์ผู้ป่วยก่อน และหลังได้รับการรักษา ซึ่งมีอย่างน้อย 4 ภาษาที่ผู้ป่วยใช้กัน และในช่วงเวลา 4 วัน ผมได้ทำงานคู่กับล่ามภาษาต่างๆ ทั้งพม่า กระเหรี่ยง กระเหรี่ยงขาว และไทย ซึ่งหน้าที่หลักของพวกเขาคือประจำอยู่ในห้องผ่าตัดกับผู้ป่วย และครอบครัว ดังนั้นผมจึงได้จับคู่กับใครก็แล้วแต่ที่ว่าง ณ เวลานั้น ส่วนใหญ่แล้วจะได้รับการแปลโดยตรงจากภาษานั้นๆ มาเป็นภาษาอังกฤษ แต่ก็มีบางครั้งที่ต้องแปลหลายต่อ ในครั้งที่มากที่สุด มีการแปลถึง 4 ต่อ คือจากกะเหรี่ยงขาว เป็นกระเหรี่ยง พม่า ไทย แล้วสุดท้ายถึงเป็นอังกฤษ
แม้ว่าส่วนใหญ่เรื่องราวของคนไข้จะดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน แต่สำหรับเรื่องราวของคนไข้ที่ต้องข้ามเขตแดนมาจากพม่าเพื่อที่จะมารับการรักษานั้นเป็นเรื่องราวที่จับใจเป็นอย่างมาก จากการสัมภาษณ์ พบว่าหากมีรางวัลให้กับผู้ป่วยที่เดินทางไกลที่สุด รางวัลนั้นต้องตกเป็นของเด็กชายอายุ 13 ปีที่เดินทางมาจากจังหวัดหวาในพม่า ชื่อว่า ซอว์ ลูเธอร์ เด็กคนนี้เป็นลูกของชาวนาที่มีพี่น้องถึง 10 คน บ้านของเขาอยู่ห่างไกลในหมู่บ้านบนภูเขา ซึ่งมีผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่อยู่เป็นจำนวนมากอย่างน่าตกใจ และซอว์ ลูเธอร์คนนี้เป็นคนแรกของหมู่บ้านที่เดินทางเข้ามารับการรักษา การเดินทางของเขาสู่แม่สอดใช้เวลา 4 วันซึ่ง 2 ใน 4 วันนี้คือการเดินเท้า และต่อเรือ ตลอดจนอาศัยกระบะของรถบรรทุกเดินทางต่อ ทั้งหมดทั้งมวลใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์เพื่อมาให้ถึง และทั้งหมดนี้เป็นการเดินทางโดยลำพัง โดยไม่มีครอบครัวหรือเพื่อนมาด้วยเลย
เพราะความผิดปกติทางรูปลักษณ์ ซอว์ ลูเธอร์เล่าว่ารู้สึกอายทุกครั้งเวลาที่เล่นอยู่ข้างนอก เลยชอบที่จะช่วยแม่อยู่แต่ในบ้านมากกว่า ทั้งที่จริงๆ แล้วชอบเล่นฟุตบอลมาก โดยเขาหวังว่าการผ่าตัดครั้งนี้จะทำให้เลิกถูกคนอื่นล้อ และทำให้รู้สึกว่าตัวเองเป็นปกติเหมือนเด็กคนอื่นๆ ซึ่งการได้เดินทางมาที่โรงพยาบาลในแม่สอดครั้งนี้ ทำให้รู้สึกพิเศษเป็นอย่างมาก เมื่อได้พบว่ามีผู้ป่วยอีกหลายคนที่เดินทางมาเพื่อจุดประสงค์เดียวกัน คือการได้รับการรักษา