“เมื่อปีก่อนฉันลาออกจากงานประจำอันแสนท้าทายที่ทำมานานเพื่อลองดูว่าฉันทำอะไรได้อีกบ้าง ฉันไม่ได้ต้องการหาเงิน แต่หาอะไรบางอย่างที่จะนำมาซึ่งมุมมองใหม่ ๆ ในชีวิต หลังจากไปพบผู้คนจากหลากหลายวงการเป็นเวลาหลายเดือน ฉันก็ยังไม่เจอ “”มุมมองใหม่”” นั้น เพื่อนเก่าผู้รอบรู้คนหนึ่งเล่าให้ฉันฟังเรื่องมูลนิธิแห่งหนึ่งที่ชื่อยาว ๆ ซึ่งฉันไม่เคยได้ยินมาก่อนซึ่งเกี่ยวข้องกับการผ่าตัดแก่เด็ก ๆ ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ ฉันไม่คุ้นกับอาการเหล่านี้และฉันรู้ทันทีว่าไม่ว่าฉันจะสามารถให้ความช่วยเหลือได้หรือไม่ มูลนิธิแห่งนี้ก็จะมอบ “”สิ่งใหม่ ๆ”” ให้แก่ฉันแน่นอน โอกาสดีมาถึงเมื่อคุณยุ้ย (ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาบุคลากรของมูลนิธิ) ถามว่าฉันอยากเข้าร่วมภารกิจของมูลนิธิสร้างรอยยิ้มที่อำเภอแม่สอดและไปดูให้เห็นกับตาไหมว่ามูลนิธิช่วยเหลือผู้คนอย่างไร ฉันตกลงไปอำเภอแม่สอดในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2557
ในวันแรกของภารกิจ ฉันตื่นนอนเวลา 6 โมงเช้าและไปถึงโรงพยาบาลในเวลา 7:30 น. ฉันพบว่ามีผู้ป่วยและครอบครัวมากกว่าหนึ่งร้อยคนนั่งรอมาหลายชั่วโมงแล้ว พวกเขาทุกคนตั้งแต่เด็กทารกไปจนถึงชายชราวัย 80 ปีต่างเฝ้ารอมูลนิธิสร้างรอยยิ้มมาตั้งแต่ปีที่แล้วและเริ่มออกเดินกับโบกรถจากบ้านหรือศูนย์อพยพมาสู่โรงพยาบาลหลายวันก่อนที่เราจะมาถึง
ฉันมีโอกาสได้ลองงานใหม่ ๆ 2-3 งานที่โรงพยาบาลทุกวัน ในวันแรกฉันได้เป็นผู้ช่วยพยาบาล เจ้าหน้าที่ลงทะเบียน คนยื่นบัตรคิว คนขานคิวเด็ก ฯลฯ ในช่วงพักรับประทานอาหารกลางวันสั้น ๆ คุณเควิน (ประธานมูลนิธิ) ถามว่าฉันรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับภารกิจครั้งนี้ ฉันกำลังหัวหมุนกับงานและฝูงชนจนพูดได้แต่เพียงว่า “”ดีค่ะ”” ก็ดีกว่าไม่ตอบอะไรเลยใช่ไหมล่ะ เขายิ้มแล้วบอกให้ฉันเลือกผู้ป่วยคนหนึ่งแล้วคอยดูเขาหรือเธอไว้ในทุกขั้นตอนเพื่อสังเกตดูความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบในสิ่งที่เรากำลังทำนั่นคือตอนที่ฉันได้รับรู้เรื่องราวของ Mu Yont Pong
เธอเป็นเด็กตัวนิดเดียว สูงไม่ถึงเอวฉัน และหนักแค่ 20 กก. ฉันเป็นคนจำตัวเลขไม่เก่งแต่ฉันกลับจำน้ำหนักเธอได้เพราะหลังจากตรวจน้ำหนักและความสูงของเธอ (ตอนนั้นฉันเป็นผู้ช่วยพยาบาล) แล้วส่งเธอไปหากุมารแพทย์ หมอฝรั่งคนหนึ่งก็พาตัวเธอกลับมาให้ฉันขณะที่เธอร้องไห้อย่างหนัก เขาเริ่มตั้งคำถามกับพยาบาลเกี่ยวกับสิ่งที่อาจผิดพลาดและเราต้องทำให้แน่ใจว่าการบันทึกทุกอย่างถูกต้องก่อนที่หมอจะตัดสินใจว่าผู้ป่วยจะได้รับการผ่าตัดหรือไม่ “”นี่เป็นเรื่องสำคัญถึงชีวิต”” เขาอธิบาย และฉันรู้สึกเงอะงะยิ่งกว่าเดิม ฉันเปลี่ยนหน้าที่ไปเป็นล่ามและสอบถามพยาบาลว่าฉันใช้เครื่องวัดถูกหรือไม่ และตรวจน้ำหนักเธอกับกุมารแพทย์อีกครั้ง ฉันทำถูกแล้ว! เธอหนัก 20 กก.! โชคดีสำหรับ Mu Yount Pong กับเด็ก ๆ 50-60 คนที่ฉันจับชั่งน้ำหนักไปเมื่อเช้า
ปัญหาคือความยากจนและการขาดแคลนสารอาหาร น่าแปลกใจที่เอกสารบอกว่าเธออายุ 12 ปี แต่เธอตัวเล็กกว่าหลานวัย 6 ขวบของฉันอีก แม่ของเธอที่ไม่เข้าใจทั้งภาษาไทยและอังกฤษดูกังวล ส่วน MYP ก็สะอึกสะอื้นอยู่ ฉัน ได้แต่หวังและภาวนาให้เธอได้รับการผ่าตัด
คนไข้ต้องผ่านหลายขั้นตอนมากกว่าจะรู้ว่าพวกเขาจะได้รับการผ่าตัดหรือไม่ พวกเขาต้องไปพบกุมารแพทย์ ทันตแพทย์ วิสัญญีแพทย์และศัลยแพทย์ เมื่อเวลาผ่านไป ฉันไปอยู่ตรงจุดจดบันทึกประวัติผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการผ่าตัดในครั้งนี้ พวกเขาอาจตัวเล็กเกินไป มีไข้ สภาพแผลหนักเกินกว่าที่จะรักษาได้ภายในการผ่าตัดเพียงครั้งเดียวและต้องใช้เวลาเตรียมตัวนานกว่านี้ ฯลฯ ถึงฉันไม่เคยมีประสบการณ์การเป็นแม่คน ฉันก็รับรู้ได้ถึงหัวใจที่แตกสลายของบรรดาแม่ ๆ
ฉันไม่ได้เจอ MYP อีกในเย็นวันนั้นและได้แต่สงสัยในตอนกลางคืนว่าเธอผ่านการคัดเลือกด้วยน้ำหนักตัว 20 กก.หรือไม่ ฉันสวดมนต์ก่อนเข้านอนทั้งที่เป็นสิ่งที่ไม่ได้ทำมานานแล้ว
เช้าวันต่อมาฉันไปโรงพยาบาลอีกครั้งและก็โล่งใจที่พบ MYP ในแผนกผู้ป่วยเด็กกำลังรอคิวผ่าตัดอยู่
งานในวันที่สองของฉันคือเก็บข้อมูล คนให้ของเล่น และคอยดูแลให้ขวดนม ฉันเพิ่งเข้าใจว่าสภาพ “”หยอดน้ำข้าวต้ม”” เป็นยังไงเมื่อได้เห็นขวด หลังจากการผ่าตัดริมฝีปากหรือเพดาน เด็ก ๆ จะดื่มจากนมแม่หรือขวดธรรมดาไม่ได้เลยเป็นเวลาหนึ่งเดือน และดื่มได้ทีละหยดเท่านั้น…
การได้รับการผ่าตัดไม่เพียงแต่พัฒนาสภาพทางกายเท่านั้น แต่มอบชีวิตที่ดีขึ้นด้วย แม่ของ MYP บอกฉันว่าเธอหวังว่าลูกสาวจะมี “”เพื่อน”” การที่มีปากแหว่ง เธอจึงพูดได้ไม่เหมือนคนอื่นและถูกทิ้งให้โดดเดี่ยวในชั้นเรียน นอกจากนี้เด็ก ๆ คนอื่นในหมู่บ้านยังไม่ยอมรับเธอเข้ากลุ่มอีกด้วย แม่เธอหวังว่าเมื่อ MYP มีริมฝีปากและเพดานที่ปกติ เธอจะไปที่โรงเรียนและผูกมิตรด้วยรอยยิ้มใหม่ของเธอและเรียนต่อสูง ๆ เพื่ออนาคตที่ดีกว่า
ในวันที่สามของภารกิจ ฉันได้รับอนุญาตให้สังเกตการณ์การผ่าตัด บรรดาหมอและพยาบาลทำงานตั้งแต่ 9 โมงเช้าจนดึกดื่นเพื่อให้การผ่าตัดทั้ง 138 กรณีเสร็จสิ้นภายในหนึ่งสัปดาห์ ทุกขั้นตอนต้องใช้ความละเอียดอ่อนและความทุ่มเท ขณะที่สังเกตการณ์ศัลยแพทย์อย่างใกล้ชิด ฉันหยุดคิดไม่ได้ว่าพวกเขาเป็นเหมือนฟรังซัวส์ เลอซาจผู้เย็บทุกเส้นด้ายเพื่อสร้างสรรค์ชีวิตที่สวยงามให้แก่เด็ก ๆ